ความปลอดภัย และข้อวิจารณ์ต่อยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ ของ ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์

ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป โดยเหตุผลสำคัญคือยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ไม่ปล่อยควันยาสูบที่เป็นอันตราย แต่อาจมีสารตกค้าง และความเสี่ยงในการรับนิโคตินมากเกินไป ในด้านผลกระทบของการที่นิโคตินได้รับความร้อนก่อนที่จะถูกสูดเข้าไป ไม่มีผลต่อความแตกต่างของนิโคตินที่มีในบุหรี่จริง เพียงแต่จากนิโคตินที่ได้รับจากยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ไม่มีสารเคมีหลายพันชนิดรวมอยู่ในนั้น ซึ่งสารเคมีหลายชนิดในบุหรี่จริงนั้นเป็นผลจากการเผาไหม้ยาสูบ

ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะจากบริษัทบุหรี่ อาทิ ฟิลิป มอร์ริส (Philip Morris) ว่าอาจไม่มีความปลอดภัยในการใช้ นอกจากนี้บริษัทยาขนาดใหญ่ที่สนใจเกี่ยวกับกับยาเพื่อการเลิกสูบบุหรี่ (อาทิแผ่นแปะนิโคติน หรือเม็ดอมนิโคติน) ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินอย่างเป็นรูปธรรมต่อกลุ่มสาธารณสุขเพื่อเรียกร้องให้มีการห้าม (ban) ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากยาสูบอิเล็กทรอนิกส์มีผลต่อความอยากบุหรี่ และสามารถทำให้เลิกบุหรี่ได้ [4] ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ และได้รับการยอมรับในหลายประเทศ แต่ก็เป็นสินค้าผิดกฎหมายในอีกหลายประเทศเช่นกัน

ในประเทศไทยกระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการห้ามนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศโดยใช้กฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่

  • พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 มาตรา 10 เรื่องห้ามผลิต นำเข้า เพื่อขายหรือเพื่อจ่ายแจกเป็นการทั่วไปหรือโฆษณาสินค้าอื่นใดที่มีรูปลักษณะ ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งเลียนแบบผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิการ์แรต หรือบุหรี่ซิการ์ มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
  • พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขายหรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งยาแผนปัจจุบัน เว้นได้แต่ได้รับอนุญาตฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาท และมาตรา 72 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตขาย หรือนำเข้าหรือสั่งนำเข้ายาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มาในราชอาณาจักร ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 20,000 บาท
  • พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีหรือของต้องจำกัดหรือของต้องห้าม หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรสยามความผิดครั้ง หนึ่งจะมีโทษปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรขาเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือทั้งปรับทั้งจำ

กระทรวงสาธารณสุขอ้างว่าพบปริมาณนิโคตินสูงกว่าบุหรี่ทั่วไปหลายเท่า และมีผลเสียต่อผู้ที่สูบ หากสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ 1 มวน จะเท่ากับสูบบุหรี่ทั่วไปถึง 15 มวนหากนำไปใช้โดยปราศจากการดูแลของแพทย์จะเป็น อันตรายต่อหัวใจและหลอดเลือดได้ และยังอ้างอีกว่ายาสูบอิเล็กทรอนิกส์มีฤทธิ์เทียบเท่าเฮโรอีน ขณะเดียวกันผู้ใช้ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ก็มีการโต้แย้งว่าบุหรี่จริง มีนิโคตินที่ได้รับจากการเผาไหม้ใบยาสูบ ซึ่งนอกจากนิโคตินแล้ว ยังมีสารก่อมะเร็งและสารพิษมากมาย และควันของบุหรี่นี้เองที่เป็นอันตราย ส่วนยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ มีนิโคตินที่ถูกผสมในสารพีจีโดย 1 มิลลิลิตรใช้เวลาสูบมากกว่า 100-150 ครั้ง ในขณะที่บุหรี่ 1 มวน ใช้เวลาสูบหมดประมาณ 10-15 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งที่สูบยาสูบอิเล็กทรอนิกส์จะได้รับนิโคตินใกล้เคียงกับบุหรี่จริง และในปริมาณที่ไม่เป็นอันตราย

ปัจจุบันในสังคมไทยยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า และไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแต่ก็มีผู้ใช้หลายคนยังยืนยันจะใช้ต่อเพื่อเลิกบุหรี่เช่นกัน